ในปี 2544 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ โดยมีบทบัญญัติ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ
คำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน คำสั่งทางปกครอง การชำระเงิน การประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐหรือโดยหน่วยงานของรัฐ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นอนุโลม และได้มีการตราราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 35 ออกใช้บังคับ เมื่อปี 2549
แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 จะมีบทบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมภาครัฐบัญญัติไว้ดังกล่าว และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมภาครัฐออกใช้บังคับแล้ว แต่มีเฉพาะหน่วยงานของรัฐบางหน่วยเท่านั้นที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกที่เห็นผลเป็นรูปธรรม
เนื่องจาก การบริหารราชการแผ่นดินในการให้บริการประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อราชการ ณ สถานที่ทำการ ของหน่วยงานของรัฐ
รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ออกใช้บังคับให้เป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน (1) บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน